ประวัติความเป็นมา
ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับบริจาคดวงตาจากผู้มีกุศลจิตและมอบดวงตาที่ผู้บริจาคถึงแก่กรรมแล้วให้จักษุแพทย์ เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยตาดำพิการ เนื่องจากในประเทศไทยมีคนตาบอดจำนวนมากที่มีสาเหตุจากโรคของตาดำหรือกระจกตา ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Cornea อันอาจรักษาให้หายหรือทุเลาลงได้ โดยการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา หรือ Corneal Transplantation (Keratoplasty) และเป็นศูนย์กลางการประสานงาน ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์
ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2508 ด้วยการปรึกษาหารือร่วมกัน ระหว่างพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (ทรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภากาชาดไทย) ศาสตราจารย์ นายแพทย์กอบชัย พรหมินทะโรจน์ (ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) และนายแพทย์ พิศักดิ์ สุ่มสวัสดิ์ (โรงพยาบาลศิริราช) มีความเห็นพ้องกันว่าสภากาชาดไทยเป็นองค์กรสาธารณกุศล มีความเหมาะสมทุกประการที่จะเป็นศูนย์กลางในการับบริจาคดวงตา เพื่อที่จะนำดวงตาเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ต่อไป สภากาชาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาและบริการดวงตาแห่งสภากาชาดไทยขึ้น มีหน้าที่อำนวยการและกำหนดนโยบายในการจัดหาและรวบรวมดวงตาเพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลหรือจักษุแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย และประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ประชาชนบริจาคดวงตาของตนในภายหลังที่ถึงแก่กรรมแล้วให้สภากาชาดไทย คณะกรรมการชุดแรกได้บัญญัติคำว่า ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า Thai Red Cross Eye Bank โดยสภากาชาดไทยได้มีการใช้ชื่อของหน่วยงานนี้มาตลอด
วิสัยทัศน์
เป็นศูนย์กลางแห่งชาติในการให้บริการดวงตาแก่ผู้ป่วยกระจกตาพิการแบบครบวงจรและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
พันธกิจ
จัดเก็บและรวบรวมดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยเทคนิคมาตรฐานสากล เพื่อมอบให้โรงพยาบาลหรือจักษุแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยกระจกตาพิการ ให้บริการวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์เรื่องความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาโรคผิวดวงตา ตลอดจนให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคตาและวิธีถนอมดวงตา
ภารกิจหลัก
ตามข้อบังคับสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2549 หมวด 7 กิจการของสภากาชาดไทย ข้อ 4 วงเล็บ 2 “ศูนย์ดวงตามีหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยเทคนิคมาตรฐานสากล เพื่อมอบให้จักษุแพทย์นำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ตลอดจนส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์”
เป้าหมายการให้บริการ
เป็นศูนย์กลางในการบริการดวงตาให้กับผู้ป่วยกระจกตาพิการแบบครบวงจรครอบคลุมทั่วประเทศและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ
กลยุทธ์
- พัฒนาระบบบริการและการจัดการ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งชาติด้านดวงตา
- พัฒนารูปแบบการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และการเคลื่อนไหวทางสังคมให้ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- พัฒนาสมรรถนะและความรู้ ความสามารถของบุคลากรสภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานด้านดวงตาให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาเครือข่ายหน่วยงานบริการด้านดวงตา ให้สามารถขยายการดำเนินงานครบวงจรได้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องยั่งยืน ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ
เป้าประสงค์
- เพื่อเป็นศูนย์กลางในการับแสดงความจำนงบริจาคดวงตาจากผู้มีกุศลจิต รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคตาและวิธีถนอมดวงตา
- เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บและรวบรวมดวงตาจากผู้เสียชีวิต เพื่อมอบให้โรงพยาบาลหรือจักษุแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการักษาผู้ป่วย
- เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการ ได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
- เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมให้ความรู้ และเทคนิคใหม่ๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการจัดเก็บดวงตา การรักษาโรคผิวดวงตา และการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาวิธีใหม่ๆ
ผลผลิต
- ผู้ป่วยตาบอดจากกระจกตาพิกร ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาทุกราย
- ประชาชนมีจิตอาสาในการแสดงความจำนงบริจาคดวงตา โดยที่จำนวนผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาเพิ่มขึ้น
- เครือข่ายบริการดวงตาที่มีศักยภาพในการดำเนินงานครบวงจรอย่างต่อเนื่องยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ