คำถามที่พบบ่อย
บริจาคดวงตาต้องมีอายุเท่าไหร่จึงบริจาคได้ ?
ผู้บริจาคดวงตา มีอายุ 2 ขวบขึ้นไป
สามารถแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ที่ไหนบ้าง ?
- ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือโทร. 02 256 4039-40 ในวันและเวลาราชการ (วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 -16.30 น.)
- บริจาคผ่าน Website : https://eyebankthai.redcross.or.th
- สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด/ กิ่งกาชาดอำเภอ ทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลเครือข่ายของศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย (โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย)
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ/ศาลาทินทัต รพ.จุฬาลงกรณ์
- สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ที่ว่าการอำเภอ (กรณีทำบัตรประชาชน)
- หน่วยเคลื่อนที่ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
เมื่อแสดงความจำนงบริจาคดวงตาแล้ว จะทราบได้อย่างไร ?
เมื่อท่านแสดงความจำนงบริจาคดวงตาแล้ว จะได้รับ “บัตรผู้แสดงความจำนงอุทิศดวงตา” ที่มีชื่อของผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาอยู่บนหน้าบัตร
หากท่านแสดงความจำนงบริจาคดวงตาผ่านเว็บไซต์ ท่านจะได้รับบัตรในรูปแบบของไฟล์ดิจิตัล ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ และท่านจะได้รับ “บัตรผู้แสดงความจำนงอุทิศดวงตา” ที่มีชื่อของผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาอยู่บนหน้าบัตร ส่งไปให้ท่านตามที่อยู่ที่แจ้งไว้
เมื่อแสดงความจำนงบริจาคดวงตาแล้ว ผู้แสดงความจำนงต้องปฏิบัติอย่างไร ?
- ลงนามลายมือชื่อผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา และ ชื่อญาติพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ญาติที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน ตรงด้านหลังบัตร
- พกบัตรติดตัว
- ต้องแจ้งให้ญาติพี่น้องรับทราบ เพราะเมื่อผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาเสียชีวิต ญาติจะต้องแจ้งศูนย์ดวงตา และก่อนทำการจัดเก็บดวงตา ญาติจะต้องเซ็นยินยอมให้จัดเก็บดวงตาได้
สายตาไม่ปกติสามารถบริจาคดวงตาได้หรือไม่ ?
ผู้ที่มีปัญหา สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สามารถบริจาคดวงตาได้
โรคต้อกระจก ต้อหิน สามารถบริจาคดวงตาได้หรือไม่ ?
หากไม่มีปัญหาบริเวณกระจกตา สามารถบริจาคดวงตาได้
การบริจาคดวงตา นำส่วนใดไปใช้ได้บ้าง ?
ส่วนของดวงตาที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ กระจกตา และ เยื่อตาขาว
การเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดบ้าง ที่ไม่สามารถนำดวงตาไปใช้ประโยชน์ได้ ?
- 1. มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- 2. โรคพิษสุนัขบ้า
- 3. ติดเชื้อซิฟิลิส
- 4. ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, ซี
- 5. ติดเชื้อไวรัส เอช ไอ วี
- 6. ไข้สมองอักเสบ
- 7. มีการติดเชื้อของลูกตา
- 8. หัดเยอรมัน
- 9. มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะเฉียบพลัน
- 10. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะแพร่กระจาย
- 11. มะเร็งลูกตา
- 12. โรควัวบ้า (Bovine spongiform encephalopathy)
แจ้งผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิตได้ที่ไหน ?
ในวันและเวลาราชการ โทร. 02 256 4039-40, 02 251 4200-1 หรือทางมือถือ 081 902 5938 และ 081 836 4927 ตลอด 24 ชม.
การจัดเก็บดวงตาผู้เสียชีวิตต้องดำเนินการภายในเวลาไม่เกินกี่ชั่วโมง นับจากเวลาที่เสียชีวิตแล้ว ?
เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดเก็บดวงตาภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้บริจาคเสียชีวิต หรือ ไม่เกิน 12 ชั่วโมงหากร่างของผู้เสียชีวติ ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้เก็บรักษาความเย็นของโรงพยาบาล และห้ามฉีดยารักษาสภาพศพ
เมื่อบริจาคดวงตาไปแล้ว สภาพร่างผู้เสียชีวิตจะเป็นอย่างไร ?
หลังจากเจ้าหน้าที่จัดเก็บดวงตาผู้เสียชีวิตแล้ว จะใส่อุปกรณ์พิเศษเข้าไปแทนที่ในดวงตาและทำการเย็บปิดเปลือกตา ให้เรียบร้อยผู้บริจาคดวงตาจะดูเหมือนคนนอนหลับ เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจัดเก็บดวงตา จะทำด้วยความเคารพต่อร่างผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นญาติสามารถนำร่างผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
การเชิดชูเกียรติผู้บริจาคดวงตา หลังจากที่ศูนย์ดวงตาได้นำดวงตามาใช้ประโยชน์แล้ว ?
- จัดพวงหรีดไปเคารพศพของผู้บริจาค
- มอบเกียรติบัตรสภากาชาดไทยยกย่องเชิดชูความดีของผู้บริจาค
- ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ หรือดินฝังศพ เป็นกรณีพิเศษให้ผู้บริจาค (เมื่อทายาทของผู้บริจาคมีความประสงค์)
- ดำเนินการขอสิทธิ์มีอุปการคุณสภากาชาดไทย ระดับทอง (4.4) ให้แก่ทายาทของผู้บริจาคดวงตา 1 ท่าน (สามารถใช้ลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย ผู้ป่วยนอก 50%, ผู้ป่วยใน 50%, ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี)
หากบัตรผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาหาย แก้ไขชื่อนามสกุล บริจาคแล้วยังไม่ได้รับบัตร ติดต่อได้ที่ไหน ?
แจ้งได้ศูนย์ดวงตา โทร. 02 256 4039-40 ในวันเวลาราชการ