ประวัติศูนย์ดวงตา

ตึกเก่าใน รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไป ด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

เนื่องด้วยในประเทศไทย มีผู้ประสบปัญหาทางการมองเห็นอยู่เป็นจำนวนมากที่มีสาเหตุจากโรคกระจกตา หรือตาดำ ซึ่งศัพท์ทางแพทย์ เรียกว่า Cornea อันอาจจะรักษาให้หาย หรือทุเลาได้ โดยวิธีการผ่าตัด ที่เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา หรือ Corneal Transplantation (Keratoplasty) ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ควรจะมีศูนย์ดวงตา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระจกตาอย่างในอารยะประเทศด้วยการปรึกษา ร่วมกันระหว่าง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภากาชาดไทย) ศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชัย พรหมินทะโรจน์ และ นายแพทย์พิศักดิ์ สุ่มสวัสดิ์ มีความเห็นพ้องกันว่า สภากาชาดไทยซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลมีความเหมาะสมทุกประการที่จะเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคดวงตา เพื่อจะได้นำดวงตาเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2508 สภากาชาดไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาและบริจาคดวงตาสภากาชาดไทยชุดแรก เมื่อ 18 พฤษภาคม 2508 คณะกรรมการ ชุดแรกได้บัญญัติคำว่าศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า Thai Red Cross Eye Bank ซึ่งสภากาชาดไทยได้ใช้เป็นชื่อของหน่วยงานนี้ตลอดมา

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2512 ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ได้รับดวงตาจากผู้บริจาคที่ถึงแก่กรรมเป็นคู่แรกนำมาใช้ทำผ่าตัดให้ผู้ป่วยสำเร็จ 2 ราย เพื่อเป็นการระลึกถึง คณะกรรมการฯมีมติให้ถือเอาวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ซึ่งต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานคำขวัญ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้แสดงความจำนงอุทิศดวงตา ความว่า “ดวงตาเราคู่นี้แสนมีค่า เกินกว่าจะทิ้งให้สูญเปล่า เราไม่อยู่เราไม่ใช้นัยน์ตาเรา ให้คนเขาเก็บไว้ใช้เราได้บุญ”

error: ไม่อนุญาตให้ Copy เนื้อหาใดๆบนเว็บไซต์