ตากับคอมพิวเตอร์

เมื่อใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ ส่วนใหญ่มักเกิดอาการเมื่อยล้าในลูกตา ปวดตา ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน ตาแห้ง รู้สึกไม่สบายตา ตาสู้แสงไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่ และปวดหลังอีกด้วย พบอุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้มากถึง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมด นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกายังพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการให้การวินิจฉัยรวมทั้งการรักษากลุ่มอาการต่างๆที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า “Computer Vision Syndrome, CVS” ทุกปีประมาณปีละ 2,000 ล้านดอลล่าร์ จักษุแพทย์มักเป็นผู้ที่ต้องให้การวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่อาการอาจแสดงไม่ชัดเจนนัก บางรายอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าอย่างเรื้อรังคล้ายความผิดปกติที่เกิดจากความเครียด

ดังนั้น ท่านผู้อ่านอาจพิจารณาจากอาการดังกล่าว ร่วมกับถามตัวเองว่าท่านใช้คอมพิวเตอร์บ่อยมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้มักจะพบว่ามีการใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องต่อวันเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคนี้ จักษุแพทย์คงต้องหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการล้าในตา ปวดตา ไม่สบายตา รวมทั้ง ปวดคอ ไหล่ และหลังก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ แล้วมีผลต่อตาก็เนื่องมาจากการที่เราใช้ตาดูจอคอมพิวเตอร์นานๆ เรามักจะจ้องอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้การกระพริบตาลดน้อยลงอย่างมากถึง 66 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับปกติ จากการที่มีสมาธิอย่างมาก รวมทั้งมีระยะการกลอกตาค่อนข้างจำกัด ผลก็คือทำให้เกิดน้ำตาระเหยออกไปมาก ก่อให้เกิดปัญหาตาแห้งตามมา ซึ่งก็เป็นตัวก่อให้เกิดอาการไม่สบายตา เมื่อยล้า ตาสู้แสง ไม่ได้

นอกจากนี้ อาการเหล่านี้ยังเป็นผลมาจากแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งแสงสว่างที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งนอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการที่เราเพ่งทำงานในระยะใกล้เป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการเพ่งเกิดการแข็งเกร็ง ก็เป็นสาเหตุนำมา ซึ่งอาการปวดตา ปวดหัวได้ ส่วนอาการปวดคอ ปวดไหล่และหลังนั้นเป็นผลจากตำแหน่งในการวางคอมพิวเตอร์ ระยะห่างของคอมพิวเตอร์กับตา แสงสว่างที่ไม่เหมาะสม ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องอยู่ในท่าที่ผิดปกติไป ก่อให้เกิดการเมื่อยล้าและปวดในที่สุด ซึ่งการวางคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ ต้องแหงนหน้าหรือเหลือบตาขึ้นก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้ช่องลูกตากว้างมาก น้ำตาก็จะระเหยออกได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น วิธีแก้ปัญหานี้เริ่มตั้งแต่

การจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ ได้แก่การจัดวางโต๊ะคอมพิวเตอร์ให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระยะที่ห่างจากลูกตาประมาณ 20 – 24 นิ้ว วางในระดับที่ต่ำกว่าระดับตาประมาณ 10 – 20 องศาเพื่อจะได้ไม่ต้องเหลือบตาขึ้นสูง ความสว่างของห้องต้องเพียงพอ อย่าใช้คอมพิวเตอร์ในห้องที่มืดความสว่างในห้องหรือบริเวณโดยรอบจอคอมพิวเตอร์ต้องใกล้เคียงกัน แสงไฟไม่ควรส่องมาจากทางด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญห้ามส่องตรงเข้าหาจอคอมพิวเตอร์เพราะจะทำให้เกิดแสงแตกกระจาย ผู้ที่จ้องมองจอเป็นเวลานานๆจะเกิดอาการแสบตาและปวดล้าในที่สุด นอกจากนี้ ยังอาจใช้แผ่นกรองแสง (Anti-reflection screen filter) ที่มีขายตามท้องตลาดวางด้านหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนและแสงที่แตกกระจายด้วย เป็นต้น

ขอแนะนำหลักการใช้คอมพิวเตอร์ว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสม ได้แก่ความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรจะปรับให้สว่างเท่าๆกับความสว่างของห้อง ส่วนการแยกความแตกต่าง (contrast) ของหน้าจอซึ่งเราสามารถปรับที่จอคอมพิวเตอร์ได้นั้นควรจะปรับให้สูงสุดเท่าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตา ขนาดของตัวหนังสือควรจะมีขนาดประมาณ 3 เท่าของขนาดตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่ท่านยังสามารถอ่านได้จากจอคอมพิวเตอร์ในระยะเดียวกัน ส่วนสีของตัวหนังสือควรเป็นสีดำบนพื้นสีขาวจะเหมาะสมที่สุด นอกจากนั้น ควรวางกระดาษหรือหนังสือที่จะต้องดูให้อยู่ในแนวเดียวกับจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันจะมีการใช้ตัวยึดด้านข้างจอคอมพิวเตอร์ที่สามารถหนีบกระดาษ หรือหนังสือที่ต้องดู เพื่อจะได้ไม่ต้องก้มๆเงยๆมองระหว่างจอคอมพิวเตอร์กับหนังสือหรือกระดาษที่จะต้องดู เป็นต้น

การแก้ปัญหาทางตา เมื่อเราทราบแล้วว่าการใช้คอมพิวเตอร์แล้วทำให้การกระพริบตาลดน้อยลง ดังนั้นควรตระหนักในข้อนี้เสมอ บอกตนเองให้มีนิสัยในการกระพริบตาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ในต่างประเทศถึงกับผลิตโปรแกรม (software) เพื่อเตือนและกระตุ้นให้กระพริบขณะใช้คอมพิวเตอร์ออกขายในท้องตลาด นอกจากนี้ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำก็จะต้องปรับนิสัยตัวเองให้มีการคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการมองใกล้ โดยบังคับให้มองไปในที่ไกลๆนานประมาณ 1-2 นาทีเช่นการมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นครั้งคราวหรืออย่างน้อย 1-2 ครั้งทุกชั่วโมง หรือให้มีการหยุดพักการทำงานทุกชั่วโมงประมาณ 5-15 นาที เป็นต้น การใช้ยาหยอดตาก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาตาแห้งได้ โดยแนะนำให้ใช้ได้เมื่อรู้สึกเมื่อยล้า แสบตาหรือตาแห้งเป็นครั้งคราว

ในผู้ที่อายุเริ่มมีสายตายืดหรือตายาวตามอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยปกตินิยมใช้แว่นตา 2 ชั้นซึ่งมีครึ่งบนไว้มองไกลส่วนครื่งล่างสำหรับมองใกล้นั้น อาจไม่สะดวกและเหมาะสมนัก การเปลี่ยนมาเป็น Progressive lens ซึ่งมีช่วงการมองหรือจุดโฟกัสหลายระดับโดยเฉพาะที่สำคัญคือระยะกลาง (intermediate zone) ซึ่งเป็นตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้เห็นได้สบายตาในทุกระยะซึ่งจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาปวดคอและผู้ที่เป็นโรคข้อ อย่างไรก็ตามในต่างประเทศยังมีการแนะนำให้ใช้แว่นตาเฉพาะสำหรับการดูจอคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายแว่นตาสำหรับสายตายืดดังกล่าวเพียงแต่เพิ่มระยะกลางให้กว้างขึ้นกว่าปกติ เพื่อจะได้มองจอคอมพิวเตอร์ได้ชัดเจน นอกจากนี้ หากใช้แว่นตาก็ควรจะเคลือบสารที่ป้องกันการสะท้อน (anti-reflective coat) จะช่วยลดการสะท้อนของแสงเข้าตาได้อีกระดับหนึ่ง

การแก้ปัญหาปวดคอ ปวดไหล่และปวดหลัง นอกจากจะจัดระดับจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมดังกล่าวแล้ว ท่านั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็มีความสำคัญ ควรจะต้องนั่งตัวตรง หลังเอนไปด้านหลังเล็กน้อย แขนทั้งสองในขณะกดแป้นพิมพ์ให้อยู่ในแนวขนานกับพื้น ส่วนเท้าควรวางราบกับพื้น หลังจากทราบว่าจะต้องปรับสิ่งแวดล้อม ลักษณะการใช้งานคอมพิวเตอร์ าและอุปนิสัยของตนเองอย่างไรแล้ว ผู้เขียนก็คาดว่าท่านจะสามารถกลับมาสนุกหรือมีความสุขกับการทำงานหรือท่องอินเตอร์เน็ตกันอีกครั้งหนึ่ง

error: ไม่อนุญาตให้ Copy เนื้อหาใดๆบนเว็บไซต์