ตามัว

ตามัว (Blurred Vision)

ตามัว มองเห็นไม่ชัดเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำให้ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์การสืบค้นหาสาเหตุและวินิจฉัยอาการตามัวจะถูกต้องและแม่นยำถ้าผู้ป่วยสามารถบอกรายละเอียดของอาการและปัญหาอื่นๆที่มีร่วมด้วย ดังนั้นถ้าท่านมีอาการตามัวมองไม่ชัดควรที่จะตอบคำถามเหล่านี้ อาการมัวเป็นมากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะใช้แผ่น Snellen’s Chart ให้ผู้ป่วยอ่านเพื่อทดสอบระดับของการมองเห็นให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้สะดวกในการตรวจและติดตามการรักษา

อาการตามัวเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ข้างใดมีอาการมากกว่า โดยทั่วไปแล้วโรคทางตาที่เกิดจากความเสื่อม (Degeneration diseases) เช่น ต้อกระจก จุดรับภาพชัดที่จอตาเสื่อมและกระจกตาเสื่อม มักจะเป็นทั้ง 2 ข้างใกล้เคียงกันแต่หรืออาจจะมีข้างใดเป็นมากกว่าอีกข้างหนึ่งได้ ส่วนโรคที่เกิดจากเส้นเลือดหรือเส้นประสาทตามักจะเป็นที่ละข้าง

อาการตามัวเป็นมานานเท่าไร ระยะเวลาที่ตามัวมักจะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค เช่น โรคเส้นประสาทตาอักเสบหรือโรคเส้นเลือดที่จอประสาทตาอุดตันมักจะมีทำให้ตามัวในทันที ต่างกับโรคต้อกระจกหรือโรคต้อหินมุมปิดที่มักจะทำให้ค่อยๆ มัวลงไป นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่ได้สังเกตุว่าตาค่อยๆ มัวลงถ้าเป็นข้างดียวเพราะมีอีกข้างช่วยในการมองเห็น ดังนั้น การหมั่นตรวจตาตัวเองเป็นประจำโดยปิดตาทีละข้างมีความจำเป็นที่จะช่วยในการติดตามอาการตามัวได้

ตาที่มัว มองไม่ชัดเป็นที่ระยะใกล้หรือไกล การที่ตามัวมองเห็นที่ใกล้ไม่ชัด หรืออ่านหนังสือไม่ได้ในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป เราเรียกภาวะนี้ว่า ”สายตายืด” (Presbyopia) เกิดจากความยืดหยุ่นของเลนส์ในตาลดลง แก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นซึ่งง่ายและสะดวกที่สุด ส่วนการมองเห็นไม่ชัดในที่ไกลนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาด้านสายตาผิดปกติหรือสาเหตุอื่นๆได้

อาการอื่น ๆ ที่มีร่วมด้วย อาการอื่นที่พบด้วยมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยวินิจฉัยโรค เช่น ถ้ามีอาการตามัวเฉียบพลัน ร่วมกับปวดตา ตรวจพบมีความดันลูกตาสูง ทำให้นึกถึง โรคต้อหินมุมปิด ถ้ามีอาการตาค่อยๆ มัวลง สู้แสงไม่ได้ ร่วมกับมีประวัติรับประทานยาสเตียรอยด์มานาน ทำให้นึกถึง โรด้อกระจกที่เกิดจากยา ทั้งนี้จะเห็นว่าการสังเกตุอาการต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยและรักษาโรค

โรคประจำต้วอื่นๆ รวมทั้งยาที่รับประทานประจำ โรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด หรือ โรคต่อมไทรอยด์ เหล่านี้เป็นต้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตาขาว เลนส์ตา จอประสาทตาและเส้นเลือดที่จอตาได้ รวมทั้งยาที่ใช้รักษาโรคบางตัวมีผลที่ตาถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าผู้ป่วยหมั่นสังเกตุตัวเองและใส่ใจในสุขภาพตารวมทั้งสุขภาพกาย ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการดูแลและแก้ไขตั้งแต่ต้น รวมทั้งสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้

error: ไม่อนุญาตให้ Copy เนื้อหาใดๆบนเว็บไซต์